7 ข้อ กับการปลุกไฟแห่ง “ศิลปะ” ในตัวคุณ

7 ข้อ กับการปลุกไฟแห่ง “ศิลปะ” ในตัวคุณ

7 ข้อ กับการปลุกไฟแห่ง “ศิลปะ” ในตัวคุณ

7 ข้อ กับการปลุกไฟแห่ง “ศิลปะ” ในตัวคุณ กิจกรรมทางศิลปะนั้นช่วยทำให้เกิดการพัฒนาจินตนาการของมนุษย์ ก่อให้เกิดความอ่อนโยนทางอารมณ์ เกิดสุนทรียภาพและความประทับใจ นอกจากนี้ยังทำให้อวัยวะในส่วนต่างๆ ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมเกิดความเคลื่อนไหว

กิจกรรมทางศิลปะนั้นก่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันของเซลล์สมองในส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับจินตนาการ ความซาบซึ้งประทับใจ การเคลื่อนไหวประสานกันของมือไม้ แขนขาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมศิลปะ ดังนั้นศิลปะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และสร้างสรรค์ได้ บางคนอาจจะเป็นยอดฝีมือ มือสมัครเล่น หรืออาจจะชอบงานศิลป์ แต่ไม่ได้เก่งอะไรเลย

เลยอยากลองให้คุณสำรวจตัวเองว่า ตัวเรานั้นรักหรือชอบทางศิลปะจริงๆ หรือเปล่า อยากทำงานทางด้านศิลปะนี้จริงหรือไม่ การสำรวจตัวเองนี้ห้ามนำเอาทักษะทางด้านศิลปะ มาเนเครื่องวัดเด็ดขาด ขอเพียงแค่เรารักทางด้านนี้ก็พอแล้ว และเพื่อปลุกไฟแห่งศิลปะในตัวคุณ ไปดูกันว่าการสร้างนิสัย บุคลิก จิตใจของศิลปิน เพื่อใช้เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ศิลปะในอนาคต จะมีอะไรบ้างไปเรียนรู้พร้อมๆ กันเลย

                1.  มีใจฝักใฝ่  

คือการสร้างจิตสำนึกในใจตลอดเวลาว่าเรามีเป้าหมายในชีวิตที่จะเป็นศิลปิน  นักออกแบบ  ฯลฯ  แล้วพยายามเก็บความรู้สึกนั้นไว้ในใจตลอดเวลา  บางครั้งเราอาจสร้างฉากขึ้นมาให้ตัวเองเป็นนักศิลปะในแขนงนั้น ๆ  ก็ได้  เช่นเราชมภาพยนตร์โฆษณาสักเรื่องหนึ่ง  แล้วอาจจะลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นคนสร้างเราจะทำแตกต่างกับเขาอย่างไร  อะไรที่เขาทำดีแล้ว  อะไรที่ยังไม่ถูกใจเรา  

หรือเมื่อเราดูมิวสิควิดีโอ  เราอาจจะลองคิดเล่น ๆ  ว่าถ้าเป็นเราเราจะทำยังไงให้มันน่าสนใจกว่านี้  สวยกว่านี้เป็นต้น  เรียกว่าเห็นอะไร  คิดอะไร  พูดอะไรก็ให้เกี่ยวกับศิลปะไปหมด  ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าให้คุณแสดงออกบ้า ๆ  บอ ๆ  กับเพื่อนหรือคนใกล้ชิดนะ  ให้คุณสร้างจิตฝักใฝ่ขึ้นแล้วเก็บเอาไว้ในใจเพื่อเป็นเชื้อประทุในการเรียนศิลปะของเรานั่นเอง

7 ข้อ กับการปลุกไฟแห่ง “ศิลปะ” ในตัวคุณ

          2.  ช่างสังเกต-จด-จำ  

อย่ามองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าอย่างผ่าน ๆ  แค่ให้รู้ว่าเป็นอะไร  นั่นยังไม่พอสำหรับนักศิลปะ-ออกแบบทั้งหลาย  เมื่อเรามองดอกกุหลาบเราต้องเห็นทั้งกิ่ง  ใบ  ดอก  หนาม  สี  และรู้ความหมาย-ประโยชน์ของมัน  บางครั้งเราอาจซื้อกุหลาบกำใหญ่จากตลาดซึ่งห่อด้วยหนังสือพิมพ์  เราอาจจะคิดเลยไปได้อีกว่าข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มันเกี่ยวข้องกับกุหลาบอย่างไร  

การสังเกตและจดจำเป็นบุคลิกสำคัญของนักออกแบบ  การสังเกตจดจำเปรียบเสมือนการกินอาหารของมนุษย์ทำให้เรามีข้อมูลอยู่ในสมองมาก  เป็นการสร้างประสบการณ์  และโลกทัศน์ให้กว้างขวาง  และเมื่อเราเรียนหรือทำงานศิลปะสิ่งที่เราสังเกตจดจำเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดออกมาเป็นงานออกแบบ  หรือไอเดียที่ดีจนบางครั้งเราเองยังประหลาดใจ…

          3. มีความคิดสร้างสรรค์

โดยทั่วไปมนุษย์มักจะคิดถึงเรื่องต่างๆ ตามเหตุและผลหรือตามข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน สำหรับผู้ที่มีความคิดแปลกแยกออกไปและเป็นความคิดในเชิงบวกผู้นั้นจะถูกยกย่องให้เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะคือความแปลก ใหม่ จริง ดี งาม ดังนั้นผู้ใดที่รู้จักคิดยอกย้อนสลับซับซ้อนและสร้างสรรค์แล้ว ผู้นั้นก็เหมาะที่จะดำเนินอาชีพในเชิงศิลปะ

7 ข้อ กับการปลุกไฟแห่ง “ศิลปะ” ในตัวคุณ

          4.  ใจกว้าง  

อาจจะแปลกใจกับข้อนี้สักหน่อยที่ว่า  นักศิลปะทั้งหลายที่เรารู้จักมักจะมีอีโก้สูง  เชื่อมั่นในความคิดของตนเอง  แล้วทำไมผมจึงบอกว่าผู้ที่จะเรียนศิลปะต้องใจกว้าง  คำว่าใจกว้างหมายถึงให้รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเพื่อนำมาพิจารณา  (ไม่ได้หมายความว่าให้เชื่อตามคนอื่น) 

 ใจกว้างที่จะรับฟังสิ่งใหม่ ๆ  ที่เข้ามาในชีวิต  เช่น  อาหารแปลก ๆ  ฟังเพลงได้หลากหลายแนว  สนใจที่จะรับรู้แนวคิดหรือความเชื่อที่ไม่เคยพบมาก่อน  ฯลฯ  เหล่านี้จะทำให้เราเป็นนักออกแบบที่มีน้ำหนักในความคิดและคำพูด  เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ

          5.  เป็นคนไวต่อความรู้สึก

รับรู้การสัมผัสได้เร็ว ไม่เฉื่อยชา ความรู้สึกแบบนี้จะช่วยให้เราปิ๊งกับไอเดียแปลกๆ ได้เร็ว คนที่ทำงานศิลปะมักจะพบว่า บางครั้งเจ้าความคิดหรือไอเดียดีๆ มักจะผ่านเข้ามาในสมองอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังนั้นหากเราเป็นคนไวเราจะเก๊ตไอเดียได้ดีกว่าคนอื่น

          6.  หัดตั้งคำถามและหาคำตอบ  

การตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเอง  จะช่วยให้เราเป็นคนมีเหตุผล  ถึงแม้คำตอบเราจะไม่ถูกต้องตาความจริง  แต่มันจะเป็นการฝึกให้เรารู้จักใช้สิ่งประกอบต่าง ๆ  มาอ้างอิงสนับสนุนความคิด  (ฝัน)  ของเรา  เช่นคำถามที่ว่าทำไมฝนตกรถจะต้องติด  บางคนอาจตอบว่าอุบัติเหตุบ่อยรถจึงติด  บางคนอาจตอบว่าคนต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นทำให้รถเคลื่อนตัวช้า  

แต่บางคนอาจบอกว่าพอฝนตกตำรวจจราจรก็เข้าไปหลบฝนหมดรถก็เลยติด  เพราะไม่มีจราจรคอยดูแล  เป็นต้น  นี่แสดงให้เห็นว่าคำถามเดียวเราอาจมีหลาย ๆ  คำตอบที่ถูกได้ทั้งหมด  ศิลปะก็เช่นกัน  ทุกคำตอบจะถูกหมด  เพียงแต่ว่าคำตอบไหนจะเหมาะสมกับสถานการณ์ใดเท่านั้นเอง

          7.  เป็นนักฝัน  

ข้อนี้สำคัญมาก  แค่ฝันเราก็ยังไม่กล้าแล้วจะลงมือทำได้อย่างไร  เมื่อเป็นเด็กผมชอบมองก้อนเมฆแล้วเห็นเป็นรูปร่างต่าง ๆ  ในใจก็คิดสร้างเรื่องราวไปตามรูปก้อนเมฆที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ  พอโตขึ้นมาผมก็อยากเป็นนักเขียนอย่าง  “ไม้  เมืองเดิม”  เพราะได้อ่านนิยายเรื่องขุนศึก  

อ่านเสร็จก็ลงมือเขียนเลยแล้วก็จินตนาการไปว่าเราได้เป็นนักเขียนแล้ว  ผมเคยฝันที่จะเป็นนาโอโตะอีโร่ในการ์ตูนหน้ากากเสือ  ความคิดฝันดี ๆ  ของเรามันจะไม่สูญเปล่าหรอกหากเรากล้าฝันสักวันมันจะถูกถ่ายทอดออกมาจากตัวเราในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  เหมือนเป็นเพื่อนรักของเราตลอดไป

                แต่อย่างไรก็ตาม ศิลปะนั้นคือ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่รู้จบ ด้วยสังคมใดๆ ก็ล้วนต้องการคนที่มีจินตนาการ สร้างสรรค์ มีความสามารถถ่ายทอดความรู้สึกของตัวเองได้ ทั้งทางคำพูด ปฏิบัติ และผลงาน หากคุณมีใจรักศิลปะ อย่ากังวลไปว่าคุณไม่มีพรสวรรค์ หรือไม่ได้เก่ง เพราะศิลปะนั้นสามารถฝึกฝน และเก็บประสบการณ์ความผิดพลาดต่างๆ มาเป็นบทเรียนให้เราได้ เพราะฉะนั้นอย่าท้อ หมั่นเรียนรู้ และฝึกฝนต่อไป

บทความทราน่าสนใจ : หน้าแรก